โพสต์แนะนำ

อาเทมิส

                                                         อาเทมิส ในคณะเทพโอลิมเปียนมีเทวีพรหมจารีอยู่ 3 องค์ ทรงนามตามลำดับว่...

วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

โพไซดอน




ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ โพไซดอน

โพไซดอน 

หรือ โพเซดอน (Poseidon) หรือ โปเซดอน เป็นชื่อเรียกเทพเจ้าตามชาวกรีก แต่สำหรับชาวโรมัน ซึ่งรับเอาวัฒนธรรมของกรีกมาอีกทอดหนึ่งจะเรียกว่า เนปจูน ตามภาษาละติน

โพไซดอน เป็นผู้คุ้มครอง ท้องทะเลและห้วงน้ำ (The ruler of the sea) เป็นพระอนุชาของเทพซุส หรือ จูปิเตอร์ตามภาษาละติน เทพที่มีอำนาจสูงสุดในบรรดาเทพเจ้ากรีก-โรมันทั้งหมด ส่วนพระชายาของพระองค์ คือ เทพีอัมฟิไทรต์ ซึ่งก็เป็นเทพี แห่งท้องทะเล เช่นกัน

โพไซดอน เป็น เทพเจ้าแห่งท้องทะเล และมหาสมุทร เป็น ผู้ปกครองดินแดน แห่งท้องน้ำ ตั้งแต่แหล่งน้ำจืด เช่น แม่น้ำ ลำคลอง จนถึงใต้บาดาล มีอาวุธคือสามง่าม บางตำนานกล่าวว่า มีท่อนล่างเป็นปลา นอกจากนี้แล้วยังถือว่าเป็นเทพแห่งแผ่นดินไหว และเป็นเทพแห่งม้าอีกด้วย

ตาม ตำนานเล่าว่า โพเซดอนเป็นบุตรของโครโนสกับเร มีพี่น้องอีก 4 องค์ ซึ่งล้วนแต่เป็นเทพ แห่งโอลิมปัสทั้งสิ้น ได้แก่

1. ซุส ผู้เป็นใหญ่ในสภาเทพแห่งโอลิมปัส
2. ฮาเดส ผู้ครอบครองยมโลก
3. เฮรา ชายาแห่งเทพซุส
4. เฮสเตีย เทพีแห่งเตาผิง

รูปลักษณ์ ของโพเซดอน ส่วนมากจะปรากฏเป็นชายวัยกลางคน รูปร่างกำยำล่ำสัน มีหนวดเครา ถือสามง่ามเป็นอาวุธ ซึ่งสามง่ามนี้มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถดลบันดาลให้เกิดคลื่นลมแรงในทะเล หรือแผ่นดินไหวได้ ครั้งหนึ่งโพเซดอน เคยคิดที่จะโค่นอำนาจของซุส โดยร่วมมือกับเฮราและอะธีนา แต่ไม่สำเร็จจึงถูกซุสลงโทษ โดยการให้ไปสร้างกำแพงเมือง ทรอย ร่วมกับเทพอพอลโล

โพเซดอนมีมเหสีองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นหญิงรับใช้ของเทพีอะธีนา คือ เมดูซ่า ซึ่งในตอนแรกนั้นยังไม่ถูกสาบให้มีผมเป็นงู เพิ่งจะเป็นเช่นนั้นเมื่อเทพีอะธีนาทราบเรื่องว่าหญิงรับใช้ของตน ไปเป็นมเหสีของโพเซดอน จึงสาบเมดูซ่าให้เป็นปีศาจที่มีผมเป็นงู และเมื่อมองใครก็จะกลายเป็นหินไปหมด ในคราวที่เปอร์ซิอุสปราบเมดูซ่านั้น เปอร์ซิอุสได้ตัดศีรษะของเมดูซ่าแล้วเลือดของเมดูซ่า ที่กระเซ็นออกมา กลายเป็นม้าบินสองตัว คือ เพกาซัส (Pegasus) และ คริสซาออร์ (Chrysaor) ดังนั้นจึงถือว่า ทั้ง เพกาซัส และ คริสซาออร์ เป็นลูกของโพเซดอนด้วย

โพเซดอน มีพาหนะเป็นม้าน้ำเทียมรถ ที่มีส่วนบนเป็นม้า และท่อนล่างเป็นปลา ซึ่งบางครั้ง จะพบรูปโพเซดอน อยู่บนรถเทียมม้าน้ำนี้ขึ้นมาจากทะเล

โพไซดอน เป็นเทพเจ้าที่หงุดหงิด และโมโหง่าย ดวงตาสีฟ้าดุดัน มองผ่านทะลุ ม่านหมอกได้ และผมสีน้ำทะเลสยายลงมาเบื้องหลัง โดยได้รับสมญาว่า “ผู้เขย่าโลก” เนื่องจากเมื่อปักตรีศูลหรือสามง่ามลงบนพื้นดิน โลกก็จะเกิดการสั่นสะเทือน และแผ่นดินแยกออกจากกัน เมื่อฟาดสามง่ามลงบนทะเล ก็จะบังเกิดคลื่นลูกใหญ่เท่าภูเขา และ เกิดพายุ มีเสียง ครึกโครมน่ากลัว ทำให้เรืออับปางลง และผู้คนที่อาศัยอยู่ชายทะเลจมน้ำ แต่เมื่อยามโพไซดอน อารมณ์ดี ทรงยื่นพระหัตถ์ออกไป ทำให้ทะเลสงบและทรงยกแผ่นดินใหม่ขึ้นมาจากน้ำ

ในสมัยที่โครนัส และเทพไททัน เป็นใหญ่อยู่นั้น เนรูส เป็นผู้ครอบครองทะเล เนรูสเป็นโอรสของ แม่พระธรณี กับ พอนทัส หรือทะเล ซึ่งเป็นสวามีองค์ที่สอง เนรูสเป็นเทพเจ้าผู้ชราแห่งทะเล มีหนวดสีเทายาว มีหางเป็นปลา และ มีธิดาเป็นนางพรายน้ำห้าสิบนาง คือ เนรีด ผู้น่ารัก เมื่อโพไซดอน ได้รับมอบหมายให้มาเป็นเจ้าแห่งทะเลแทน เนรูส ผู้ชราที่มีน้ำพระทัยดี ก็ทรงยกธิดานามว่า อัมฟิไทรต์ ให้เป็นมเหสีของโพไซดอน แล้วเธอเองก็ปลีกตัวไปประทับอย่างสงบในถ้ำใต้บาดาล เนรูสทรงยกปราสาทใต้ทะเลให้แก่พระราชา และพระราชินีองค์ใหม่ด้วยปราสาททองคำ ซึ่งตั้งอยู่ในสวนหินปะการังและไข่มุก อัมฟิไทรต์ประทับที่ปราสาทแห่งนี้อย่างมีความสุข พร้อมกันนั้นยังห้อมล้อมด้วยนางพรายน้ำพี่น้องอีกสี่สิบเก้านาง นางมีโอรสองค์เดียว นามว่า ไทรทัน ซึ่งมีหางเป็นหางปลา เหมือนเนรูสผู้เป็นพ่อ ทรงขี่หลังสัตว์ทะเล และทรงเป่าสังข์ท่องเที่ยวไปในทะเล

โพไซดอนไม่ค่อยประทับอยู่ที่ ปราสาท เพราะไม่ชอบอยู่นิ่ง ๆ ทรงโปรดขับรถเทียมม้าสีขาวเหมือนหิมะแข่งกับลูกคลื่น กล่าวกันว่า โพไซดอน เนรมิตม้ามาจากรูปของคลื่นที่แตกกระจาย โพไซดอนทรงมีชายา และโอรสธิดามากมาย เหมือนซุส แต่ต่างกันตรงที่อัมฟิไทรต์ไม่ทรงหึงหวงเหมือนเฮรา

มีเกาะแห่งหนึ่งที่โพไซดอนทรงยกขึ้นมาสูงกว่าระดับน้ำทะเลชื่อว่า เกาะดีลอส เกาะนี้เพิ่งสร้างขึ้น จึงยังคงลอยไปมา อยู่ในน้ำ เกาะเล็ก ๆ นี้พื้นดินยังไม่อุดมสมบูรณ์ ยังไม่มีพืชพรรณอื่นใด นอกจากต้นปาล์มต้นเดียวเท่านั้น ในร่มเงา ของต้นปาล์มนี้ เทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สององค์ คือ อะพอลโล กับ อาร์ทีมิส ได้ถือกำเนิดขึ้นมาดังเรื่องเล่าดังต่อไปนี้

“ซุสได้อภิเษกกับ เทพธิดา ลีโท พอเฮราทรงทราบว่าลีโททรงครรภ์แฝด ก็ทรงกริ้วมาก และรับสั่งห้ามมิให้พื้นดิน ทุกแห่งในโลกให้ที่พำนักแก่นาง ลีโทจึงต้องซัดเซพเนจรเรื่อยไป ไม่สามารถหาที่พำนักเพื่อให้กำเนิดบุตรได้

ใน ที่สุดนางก็มาถึงเกาะดีลอส เกาะน้อยนี้ให้การต้อนรับนาง เนื่องด้วยเกาะนี้ยังลอยอยู่ ยังไม่ได้เป็นแผ่นดิน จึงมีลักษณะไม่ตรงกับที่เฮราทรงรับสั่งไว้ ลีโททรุดกายลงใต้ร่มต้นปาล์มอย่างเหนื่อยอ่อน แต่ยังให้กำเนิดบุตรไม่ได้ เนื่องจากเฮรา รับสั่งห้ามเทพธิดา อิลิเทียอา เทพีแห่งเด็กเกิดใหม่ไม่ให้ช่วยเหลือ ถ้านางไม่ช่วยเด็กก็จะไม่สามารถคลอดออกมาได้ เทพธิดาอื่น ๆ ทรงสงสารลีโท จึงพยายามอ้อนวอนให้พระทัยของเฮราอ่อนลง โดยถวายสร้อยพระศอเส้นงามแก่นาง สร้อยเส้นนี้ยาวเก้าหลา ทำด้วยทองคำและอำพัน ในที่สุดเฮราก็ทรงยอมปล่อยอิลิเทียอาไป โดยเทพธิดาไอริส ทรงนำอิลิเทียอา ลงมาหาลีโททางสายรุ้ง

บุตรของลีโท แฝดผู้พี่ คือ อาร์ทีมิส เป็นเทพธิดาแสนสวยดุจดวงจันทร์ เส้นเกศาสีดำเหมือนรัตติกาล นางได้เป็นเทพีแห่งการล่าสัตว์ และ เทพีของสิ่งมีชีวิตที่เกิดใหม่ ฝาแฝดองค์รองคือ อะพอลโล ซึ่งเป็นเทพบุตร ที่สง่างาม ราวดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งดนตรี แสงสว่างและเหตุผล

ซุสดีพระทัยที่เห็นคู่ แฝดสวยงามทั้งคู่ ท่านได้ประทานธนูเงินและลูกธนูเต็มกระบอกให้คนละชุด ลูกธนูของ อาร์ทีมิสอ่อนนุ่ม เหมือนแสงจันทร์ และผู้ถูกลูกธนูนี้จะตายโดยไม่เจ็บปวด ส่วนลูกธนูของอะพอลโล แข็งและแหลมคมเหมือนแสงอาทิตย์

ซุสประทานพรแก่เกาะนี้และยังผูกติด ไว้กับก้นทะเล ทำให้ไม่ต้องลอยไปลอยมาอีกต่อไป หญ้าและไม้ดอกเจริญงอกงามขึ้นอย่างอุดมสมบูรณ์ ตั้งแต่นั้นมา ดีลอสกลายเป็นเกาะที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด ในบรรดาเกาะของประเทศกรีซ ผู้จาริกแสวงบุญ ต่างพากันมาที่เกาะนี้ และสร้างเทวาลัยไว้มากมายเพื่อเทิดทูนลีโอ และโอรสธิดาคู่แฝดของนาง”

เทพโพไซดอนมีความสำคัญสำหรับชาวกรีก รองลงมาจากเทพซุส ด้วยเหตุว่าชาวกรีกที่อาศัยอยู่ทั้งสองฝั่ง ของทะเลอีเจียนเป็นชาวทะเล ดังนั้นเทพแห่งท้องทะเลจึงมีความสำคัญอย่างมาก และนอกจากพระองค์จะเป็นเทพแห่งท้องทะเลแล้ว พระองค์ยังเป็นผู้ประทานม้าตัวแรกให้แก่มนุษย์ โดยการใช้อาวุธประจำกาย นั่นก็คือตรีศูลหรือสามง่าม ตีก้อนหินจนเกิดเป็นน้ำพุเกลือและกลายเป็นม้าตัวแรกของโลก พระองค์จึงได้รับการสรรเสริญ ทั้งในฐานะที่เป็นเทพเจ้า แห่งท้องทะเล และ ผู้ประทานม้าตัวแรกให้แก่มนุษย์อีกด้วย

วิหารของ เทพโพไซดอนอยู่ที่ อัคซูเนียน ประเทศกรีซ อยู่บนอะโครโพลิสตรงข้ามกับวิหารพาร์เธนอนที่โด่งดัง ซึ่งเป็นของเทพีอะธีนา


ที่มา http://variety.phuketindex.com/faith/โพไซดอน-โพเซดอน-poseidon-379.html

อาเทมิส





                                                         อาเทมิส

ในคณะเทพโอลิมเปียนมีเทวีพรหมจารีอยู่ 3 องค์ ทรงนามตามลำดับว่า เฮสเทีย (Hestia) เอเธน่า (Athene) และ อาร์เตมิส (Artemis) ซึ่งเป็นเทวีครองการล่าสัตว์ ทรงนามว่า ไดอานา (Diana) หรือ อาร์เตมิส เทวีองค์นี้เป็นที่เคารพบูชาของพวกพรานโดยเฉพาะ และเป็นเจ้าของสัตว์ป่าทั้งปวง แต่สัตว์ที่เทวีโปรดปรานมากเป็นพิเศษ ได้แก่ กวาง


โดยที่แสงเดือนเพ็ญ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่การเดินป่า และล่าสัตว์ในเวลากลางคืน คนทั้งปวง จึงนับถือ เทวีในฐานะ เทวีครองแสงจันทร์ด้วย และในที่สุดก็ยกย่องเทวี เป็นเทวีแห่งดวงจันทร์ ในชื่อว่า ฟีบี (Phoebe) บ้าง เซลีนี (Selene) บ้าง ซึ่ง เป็นชื่อเรียกเทวีประจำดวงจันทร์ หรือจันทรเทวี มาแต่ดั้งเดิม ต่อมาในระยะหลัง ๆ ยังมีการเอา เทวีเหกกะตี (Hecate) ซึ่งครองความมืดในข้างแรม และไสยศาสตร์ มารวมกับ เทวีอาร์เตมิส หมายให้เป็นเทวีองค์เดียวกันอีกด้วย

อาร์เตมิสเป็นเทพธิดาคู่แฝดผู้พี่ของ อพอลโล สุริยเทพของกรีก เกิดแต่ซุส กับนางแลโตนา หรือ ลีโต (Latona ,Leto) (แต่บางตำนานกล่าวว่า เป็นธิดาของเทพไดโอนิซัสกับไอซิส แต่ผู้คนมักรู้จักเทวีอาร์เตมิส ในฐานะธิดาของ ซุสมากกว่า รวมทั้งท่านโฮเมอร์นักกวีชาวกรีกกล่าวไว้เช่นนี้ด้วย) เมื่อตอนเกิดคลอดยากนักหนา ถึงแก่นางแลโตนา เกือบเอาชีวิตไม่รอด เทวีรู้สึกถึงความเจ็บปวดทนทุกข์เวทนาอย่างใหญ่หลวงของมารดา เลยพลอยรังเกียจการวิวาห์ ถึงกับขอประทานอนุญาตจากเทพบิดาในอันที่จะขอไม่มีคู่ครอง แม้เหล่าเทพบนเขาโอลิมปัส แสดงความปรารถนา ใคร่จะได้วิวาห์ด้วยเทวีก็ไม่ไยดี คงยืนกรานที่จะดำรงชีวิตโสดอย่างเดียว และวิงวอนต่อเทพบิดา ด้วยเหตุผลเช่นนี้ ซุสจำต้องประทานอนุญาตให้ เทวีขอประทานนางอัปสรโอเชียนิค 60 กับอัปสรอื่นอีก 20 ซึ่งล้วนแต่ ไม่ยินดี ในการวิวาห์ เป็นบริวารติดสอยห้อยตาม เสด็จประพาสไปตามราวป่า เพลิดเพลินเป็นนิตย์นิรันดร

ทุกเวลาเย็นอาทิตย์อัสดง พอตะวันตกลับโลกไปแล้ว เทวีอาร์เตมิส ก็ทรงจันทรยานเทียมม้าขาวปลอด ดั่งสีนม พเนจรไปในห้วงเวหา ผ่านดวงดารา ซึ่งต่างก็ทอแสงจ้าระยิบระยับรับตลอดทาง

อาร์เตมิส เป็นเทวีที่มีอุปนิสัยโหดเหี้ยมและดุร้าย น่าแปลกที่ชาวกรีกกลับให้ความเคารพนับถือเทวีเป็นอันมาก ตำนานหลายฉบับ กล่าวไว้ตรงกันว่า นางมักลงโทษผู้ที่ทำให้ขุ่นเคืองอย่างรุนแรง มีผู้เคราะห์ร้ายหลายรายถูกเทวี ลงโทษอย่างน่าสยดสยอง ดังเรื่องราว 2-3 เรื่องต่อไปนี้

วันหนึ่งเมื่อเทวีอาร์เตมิสทรงจันทรยาน ดำเนินไปตลอดราตรีกาลแล้ว จึงถือศรคู่หัตถ์ลงจากรถออกล่าสัตว์ป่า มีนางอัปสรบริวาร ติดสอยห้อยตามดุจเคย เวลาบ่ายหนึ่งในฤดูร้อนภายหลังที่เที่ยวตามสัตว์ ด้วยความตื่นเต้นเป็นเวลานานผิดกว่าเคย เทวีกับบริวาร ก็พากันมาถึงหนองน้ำนิ่งแห่งหนึ่งแห่งลำเนาเขา น้ำใสเย็น แพรวพราย ชวนให้ลงสรงสนาน เทวีและบริวารทั้งปวง จึงพากันเปลื้องเครื่องทรง ชุดล่าสัตว์ ลงเล่นน้ำเป็นที่สำราญยิ่งนัก แต่วันนั้น เทวีและบริวารใช่จะเป็นพรานคณะเดียวที่ออกล่าสัตว์ก็หาไม่ ยังมีนายพรานชื่อ แอคเตียน (Actaeon) ออกเที่ยวล่าสัตว์หาเนื้อ อีกคนหนึ่งด้วย พอเวลาบ่ายตะวันชาย แอคเตียน เหน็ดเหนื่อยโรยกำลัง และกระหายน้ำ จึงมุ่งหน้า มายังหนองน้ำแห่งนี้เหมือนกัน ในขณะที่เข้าไปใกล้หนองน้ำนั้น แอคเตียนแว่วเสียงสำรวล สรวลดัง มาจากหนองน้ำแต่ไกล จึงย่องเข้าไปอย่างระมัดระวัง เมื่อถึงระยะพอมองเห็น เขาก็ค่อยบรรจง แหวกกิ่งไม้ใบหนา แง้มมองดู เห็นเทวีอาร์เตมิส กับบริวารสรงน้ำอยู่ เป็นภาพที่ไม่เคยมีมนุษย์คนใด มีโอกาสได้พบเห็นซักครั้งหนึ่งเลย ในขณะนั้นเอง เทวีซึ่งสันทัดจัดเจนกับความเป็นไปในราวป่า ได้สดับเสียงใบไม้ไหว เหลียวขวับมาเพื่อจะดูให้แน่ใจว่าเสียงนั้นเกิดจากเหตุใด ก็ประสบสายตาจ้องมองอย่างตะลึงพรึงเพริด ของนายพรานหนุ่มผู้พิศวง เทวีโกรธนักที่เจ้าหนุ่มบังอาจละลาบละล้วง จึงกอบน้ำด้วยอุ้งหัตถ์ ซัดสาดตรงไปยังใบหน้าของเจ้าหนุ่มทันที พอหยดน้ำกระทบหน้าเจ้าหนุ่ม เขาก็รู้สึกตัวว่าร่างของเขากลายเปลี่ยนเป็นกวางไปเสียแล้ว พร้อมกับมีเขางอกขึ้นแผ่กิ่งก้านสาขางามสะพรั่งให้รู้สึกเสียใจนัก ในขณะที่เขายืนนิ่งงันในรูปกวางอยู่ ณ ที่นั้นเอง ก็แว่วเสียง สุนัขล่าเนื้อ ของเขาเอง เห่าอยู่ในที่ไกลเที่ยวตามหานาย แอคเตียนสะดุ้งตกใจ จึงขยับออก จะวิ่งหนีเข้าป่า แต่อนิจจา ช้าไปเสียแล้ว ฝูงสุนัขเห็นเขาเข้าแล้ว มันพากัน วิ่งกรูตามกระชั้นเข้าไปเป็นพรวน กวางแอคเตียนเจ้ากรรม พยายามโกยหนีสุดกำลัง แต่ไม่พ้น พอล้มฮวบลงกับพื้นเพราะอิดโรย สุนัขทั้งฝูงก็กระโจนเข้ารุมงับคอหอย ถึงแก่ความตายอยู่กับที่ตรงนั้นนั่นเอง

ในกาลครั้งหนึ่งยังมีนายพรานร่างกำยำทรงพลังยิ่งคนหนึ่ง ชื่อว่า โอไรออน (Orion) กำเนิดอันแท้จริงของเขาไม่มีประวัติแน่ชัด หากแต่ถือกันว่าเขาเป็นบุตรของเทพเจ้าแห่งทะเลโปเซดอน (เนปจูน) และสามารถลุยทะเลลึก บางคน ก็ว่าเดินไปบนพื้นน้ำทะเลได้ในเวลากลางวัน โอไรออนออกเที่ยวตระเวณไป ตามราวป่าตลอดวัน มีสุนัขที่แสนซื่อ ชื่อว่า ซิริอัส (Sirius) ตามติดสอยไปด้วย วันหนึ่งเขาได้พบกับนางอัปสรทั้ง 7 เรียกว่า พลียาดีส (Pleiades) ที่กลางป่า ให้บังเกิดความเสน่หา จึงตามนางเหล่านั้นไปอย่างฉับพลัน แต่นางอัปสรก็เร่งหนี จนกระทั่งอ่อนกำลังจวนเจียนจะไม่พ้น นางเหล่านั้นจึงขอร้องให้ เทวีอาร์เตมิสช่วย เทวีก็โปรดช่วยดังที่เคยโปรดแก่บริวารเสมอ เพราะฉะนั้นเมื่อโอไรออน กระหืดกระหอบตามไปทันก็พลันได้เห็นนกพิราบสีขาวดังหิมะ 7  ตัว บินขึ้นสู่ฟากฟ้าพอดี ในฟากฟ้านกพิราบทั้ง 7 เปลี่ยนไปอีกด้วยอำนาจบันดาลของเทวีอาร์เตมิส กลายเป็นกลุ่มดาวซึ่งเรียกว่า พลียาดีส เปล่งประกาย ระยิบระยับเรืองโรจน์ แต่เมื่อกรุงทรอยเสียแก่ข้าศึกนั้น ดาวกลุ่มนี้สลัวลงด้วยความเศร้า และดวงหนึ่ง ซึ่งมีอารมณ์แรงกว่าเพื่อน ถึงแก่มืดมัวลับจากสายตาไป เพื่อซ่อนตัวให้พ้นตาคน

ฝ่ายโอไรออนแม้ไม่สมหวังก็มิได้เสียใจนานนัก ต่อมาเขาก็ผูกสมัครรักนาง มิโรปี (Merope) ธิดาท้าว อีโนเปียน (Oenopion) เจ้าครองเกาะไคออส (Chios) โดยความมุ่งมั่นที่จะวิวาห์ด้วยกับนาง โอไรออนอุตส่าห์ล่าสัตว์ป่าเสียจนเตียนไปทั้งเกาะ เอาสัตว์ที่ล่าได้เป็นกำนัลแด่สาวเจ้าและบิดา แต่เมื่อโอไรออนออกปากขอนางมิโรปีต่อบิดาของนางทีใด บิดานางก็ผัดไปทุกที โอไรออนนั้นมีนิสัยวู่วามไม่อดทนในการที่จะต้องคอยเรื่อยไป ไม่มีกำหนดเวลาเช่นนี้ เขาจึงตัดสินใจที่จะรวบรัดด้วยวิธีฉุดคร่านางมิโรปีด้วยกำลังหักหาญ แทนการวิวาห์โดยเปิดเผย ซึ่งจะกำหนดกันเมื่อใดก็ไม่รู้ ฝ่ายท้าวอีโนเปียนรู้ทันจึงจัดการตัดไฟแต่ต้นลมเสียก่อน โดยมอมเหล้าโอไรออนจนเมาทำให้ตาบอด แล้วเอาไปทิ้งริมทะเล โอไรออนเสียทั้งรัก ทั้งดวงตา ฟื้นตื่นขึ้นไม่รู้จะไป ณ แห่งหนใด แต่อาศัยความรู้ของนายพราน ฟังเสียงของค้อนยักษ์ไซคลอปส์ในเกาะเลมนอส (lemnos) ดั้นด้นไปจนถึงถ้ำตีเหล็กของยักษ์ ฝ่ายยักษ์ตนหนึ่งมีความสงสารจึงอาสาพาโอไรออน เดินไปทางทิศตะวันออก ช่วยให้ได้พบกับ สุริยเทพ อพอลโล และอาศัยแสงสว่างรักษาดวงตาให้กลับคืนเป็นปกติ

เมื่อกลับเป็นปกติดังเดิมแล้ว โอไรออนก็กลับมาล่าสัตว์อีก ตั้งแต่เช้าจนเย็นทุกวัน โดยตอนนี้เองเทวีอาร์เตมิสได้พบเขาในป่า และได้คบหาชอบพอกันมาก อพอลโล เห็นท่าไม่ชอบกลในมิตรภาพ ทั้งนี้เกรงว่าภคนีเทวีจะกลับสัตย์ปฏิญาณที่ตั้งไว้เดิม ว่าจะครองความเป็นพรหมจารีตลอดไปนั้นเสีย จึงคิดอุบายให้มิตรภาพนั้นยุติลงอย่างเด็ดขาด
วันหนึ่งอพอลโล เห็นโอไรออนเดินลุยทะเล โผล่หัวอยู่เหนือพื้นน้ำ จึงเรียกอาร์เตมิสเข้าไปและชวนคุยเรื่องฝีมือธนูศิลป์ จนอาร์เตมิสตายใจ ว่าแล้วอพอลโล ก็ท้าให้อาร์เตมิสลองฝีมือ โดยให้ลองยิงอะไรที่ลอยอยู่เหนือพื้นน้ำทะเลดูว่าจะถูกหรือไม่ ฝ่ายเทวีขมังธนูก็ยิงธนูออกไปฉับพลัน หาเฉลียวใจไม่ว่าอะไรดำ ๆ นั้นคือ หัวของโอไรออน ลูกธนูถูกเป้าหมายอย่างแม่นยำ ครั้นคลื่นซัดสาดโอไรออนเข้าฝั่ง เทวีอาร์เตมิสจึงรู้ว่าได้ทำอะไรลงไป จึงรู้สึกเศร้าเสียดายเป็นอย่างมาก เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วเทวีจึงแปลงโอไรออน กลายเป็นกลุ่มดาว พร้อมด้วย สายรัดเอว ดาบ และ กระบองคู่มือของเขา อยู่ในท้องฟ้าต่อจากกลุ่มดาวพลียาดีส และแปลงสุนัขของเขา ให้กลายเป็น ดาวซิริอัส อยู่ท้ายกลุ่มดาวโอไรออนด้วยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

เรื่องราวนายพรานโอไรออนนั้น มีบางตำนานกล่าวถึงการตายของนายพรานหนุ่มคนนี้แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ ขณะที่ไปล่าสัตว์ด้วยกัน โอไรออนเกิดไปสัมผัสถูกกายของเทวีอาร์เตมิสเข้า ความที่ไม่ยอมให้ชายใดเข้าใกล้ เทวีเผลอตัวลงโทษบุรุษคนแรกที่บังอาจสัมผัสกายเทวีทันที โทษที่อาร์เตมิสบันดาลให้เป็นไปนั้น มาในรูปของแมงป่องพิษ ที่โผล่ขึ้นจากใต้ดิน มากัดข้อเท้าของโอไรออน อันเป็นเหตุให้ นายพรานอาภัพผู้นี้ ล้มลงสิ้นใจตาย

เนื่องด้วยเทวีอาร์เตมิส รังเกียจการวิวาห์ ถือครองพรหมจารี นอกจากนางจะไม่รัก ไม่วิวาห์แล้ว เทวีเองยังบังคับให้ บริวารของตนไร้รัก และไร้คู่ ตามไปด้วย หากผู้ใดฝ่าฝืนถูกพิษรักเข้าให้ ก็จะถูกเทวีอาร์เตมิสลงโทษอย่างทารุณ ดั่งเช่น นางคัลลิสโต นางสวยงามจนซุส แอบหลงรักจึงใช้เล่ห์เพทุบาย จำแลงองค์เป็นอาร์เตมิสเข้าไปคลอเคลียใกล้ ๆ พอเทวีอาร์เตมิสรู้เข้าก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ แต่ไม่ยักโกรธเทพพระบิดาผู้ก่อเหตุ กลับหันไปเล่นงาน คัลลิสโตผู้น่าสงสาร ด้วยการใช้ธนูยิงนางจนมอดม้วยสิ้นใจไป

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเศร้าอีกเรื่องก็คือ ในคืนหนึ่ง ขณะที่เทวีอยู่เหนือแว่นแคว้นแดนคอเรีย พลันเทวีก็แลเห็น หนุ่มน้อยคนหนึ่ง นอนหงายหน้าอาบแสงเดือนอันอ่อนละมุนอยู่ริมเขา เจ้าหนุ่มนี้คือคนเลี้ยงแกะรูปงามชื่อ เอนดิเมียน (Endymion) กำลังอยู่ในอาการเคลิ้มหลับ ความงามของเจ้าหนุ่มเมื่อต้องแสงจันทร์ เป็นที่พิสมัยแก่เทวีอาร์เตมิสนัก เทวีอดรัญจวนไว้มิได้ จึงยอรถให้หยุดฉับพลัน แล้วลงจากรถลอยเลื่อนลงมาจุมพิตริมฝีปากเผยอน้อย ๆ ของเจ้าหนุ่มเบา ๆ แล้วลอยเลื่อนกลับไป ในขณะนั้นเองเอนดิเมียนฟื้นตื่น แต่จิตยังอยู่ในภวังค์ ค่อยลืมเปลือกตาขึ้นอย่างปรือ ๆ เห็นภาพคลับคล้ายคลับคลาพึงพิศวง บัดดลก็สะดุ้งตื่นลุกขึ้นขยี้ตาเหลียวมองรอบข้าง ครั้นเห็นดวงจันทร์กำลังลอยเลื่อนอยู่ในฟากฟ้า ก็นึกแน่ว่าเหตุที่ประสบกับตนเป็นแค่ความฝันเท่านั้น แต่ความฝันก็แสนจะดื่มด่ำใจเสียยิ่งกระไร หวังจะได้ฝันเห็นดังนั้นอีกครั้งหนึ่ง เอนดิเมียนฝังใจในความฝันนั้นหนักหนาเที่ยวซอกซอนค้นหาเทพธิดาในฝัน ไปตามที่ต่าง ๆ แม้กระทั่งในทะเลลึก ฝ่ายอมรเทพทั้งปวงรู้ความเสน่หา ที่เทวีมอบให้เอนดิเมียน ก็พากันพิศวงสนเท่ห์ยิ่งนัก เพื่อตัดหนทางที่จะทำให้เกิดเรื่องอื้อฉาว ซุสจึงบังคับเอนดิเมียน ให้เลือกเอาว่าจะยอมตายด้วยวิธีหนึ่ง ตามแต่จะพึงประสงค์ หรือจะยอมนอนหลับโดยไม่มีเวลาตื่นในถ้ำแห่งหนึ่งบนยอดเขาแลตมัส (Latmus) เอนดิเมียน เลือกเอาประการหลัง และ ณ ที่นั้นคนโบราณเขาเชื่อว่า เอนดิเมียน คงนอนหลับตลอดกาล โดยเทวีอาร์เตมิสผู้ซื่อสัตย์แวะเวียนไปเยือนเจ้าหนุ่มทุกคืน และเฝ้าดูแลฝูงแกะ ที่เจ้าหนุ่มทอดทิ้งไป เพื่อค้นหาเทวีให้อีกด้วย

รูปสลักของเทวีอาร์เตมิสของชาวกรีก เป็นหญิงสาวอรชรแต่แข็งแกร่ง แต่งกายไม่เหมือนเทวีองค์อื่น ๆ โดยนุ่ง กระโปรงสั้นเหนือเข่า ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการล่าสัตว์นั่นเอง อาวุธที่โปรดปราน คือ ธนู มีหมีเป็นสัญลักษณ์ อุปนิสัยดี ๆ ในองค์ เทวีเท่าที่ค้นพบคือ ความรักในดนตรี และ เล่นดนตรีต่าง ๆ ได้ไพเราะ เทวีชอบการร้องเพลง และเต้นรำ เหมือนน้องชาย คือ เทพอพอลโล นั่นเอง

ที่มา http://variety.phuketindex.com/faith/อาร์เตมิส-artemis-ไดอานา-diana-2916.html

อพอลโล


                                                               ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เทพอพอลโล 
                                                          อพอลโล


 (Apollo ภาษากรีก: อพอลลอน) บุตรชายคนโตของมหาเทพซุส กับนางเลโต เป็นหนึ่งใน 12 เทพ แห่งโอลิมปัส เป็นเทพแห่งแสงสว่าง หรือเทพแห่งดวงอาทิตย์ รวมถึงเป็นเทพแห่งสัจจะและการดนตรีด้วย อพอลโล มีพี่สาวฝาแฝดชื่อ อาร์เทมิส หรือ ไดอาน่า (ในโรมัน) ซึ่งเป็นเทพีแห่งดวงจันทร์

จริงๆแล้วสุริยเทพดั้งเดิมของกรีกคือ ฮีลิออส (Helios) ซึ่งเป็นบุตรของไฮเพอร์เรียน (Hyperion) ในคณะเทพไทแทน แต่เมื่อคณะเทพไทแทนสิ้นอำนาจ ชาวกรีกจึงนับถือเทพ อพอลโลแทนสืบต่อมา เมื่อนาง เลโต มารดา ของ อพอลโล ถูกกระทำด้วยความหึงของ เทวีเฮร่า เพราะเหตุเป็นที่ต้องตาต้องใจของซุส ทำให้ในขณะที่นางเลโตอุ้มครรภ์ ต้องหนีงูไพธอน (Python) ของเทวีเฮร่า ซอกซอนไปไม่มีที่จะให้กำเนิดบุตรในครรภ์ได้ จนไปถึงเกาะดีลอส (Delos) เทพโปเซดอน มี ความสงสาร บันดาลให้เกาะน้อยผุดขึ้นในทะเล นางจึงได้ให้กำเนิด อพอลโลกับอาร์เตมิส บนเกาะ นั้น ในทันทีที่ประสูติ จากครรภ์มารดา อพอลโลก็ได้จับงูไพธอนฆ่าเสีย ด้วยเหตุนี้ บางทีอพอลโลก็เป็นที่เรียกขานว่า ไพธูส (Pytheus) แปลว่า “ผู้ประหารไพธอน” นอกจากนี้อพอลโลยังมีชื่ออื่น ๆ อีกหลายชื่อ เช่น มีชื่อตาม สถานที่เกิดว่า ดีเลียน , ฟีบัส (Phoebus) แปลว่า “โอภาส” หรือ “ส่องแสง” ชื่อหลังนี้มักใช้ร่วมกับชื่อหลักว่า ฟีบัส อพอลโล

เมื่อให้กำเนิดบุตรแล้ว นางเลโตก็ยังไม่พ้นการรังควานของเทวีเฮร่า ต้องดั้นด้น ต่อไปจนถึงแคว้น เคเรีย (Caria) ซึ่งอยู่ในเอเซียไมเนอร์ ในปัจจุบันนี้ นางจำเป็นต้องหยุดพัก ณ ริมหนองน้ำแห่งหนึ่งด้วยโรยกำลัง และขอดื่มน้ำจาก พวกชาวบ้าน ที่ออกมาถอนหญ้าคาอยู่ในบริเวณนั้น พวกชาวบ้านแทนที่จะสมเพชสงสารกลับไล่ตะเพิด และ ด่าทอนางด้วยคำหยาบช้า ทำให้ซุสกริ้วหนัก ถึงกับสาปชาวบ้านเหล่านั้นให้กลายเป็นกบไปทั้งหมด

อพอลโล เป็นเทพที่ชาวกรีกถือว่ามีรูปงามยิ่ง และเป็นนักดนตรีผู้ขับกล่อมเทพทั้งปวงบนเขาโอลิมปัส ด้วยพิณถือ ของท่าน นอกจากนี้ยังมีคันธนูซึ่งยิงได้ไกล จึงได้สมญานามว่า เทพขมังธนู และนอกจากนี้ ยังเป็น เทพผู้ถ่ายทอดวิชาโรคศิลป์ให้แก่มนุษย์ เป็นเทพแห่งแสงสว่างผู้ขจัดความมืด และเป็นเทพแห่งสัจธรรม ผู้ไม่เคยเอ่ยวาจาเท็จอีกด้วย

วิหารของเทพอพอลโลนั้น มีอยู่ดาษดื่นทั่วไปแต่ที่สำคัญที่สุดได้แก่ วิหาร ณ เมืองเดลฟี ใกล้ทิวเขา พาร์นาซัส รูปอนุสาวรีย์ โคลอสซัส (Colosus) ที่เขาสร้างอุทิศแด่ ณ เกาะ โรดส์ (Rhodes) นับเป็นสิ่งหนึ่ง ในสิ่งอัศจรรย์ทั้ง 7 ของโลกสมัยโบราณทีเดียว

เทพอพอลโลมีวีรกรรมสังหารเหล่าคนพาลมากมาย นอกจากเคยฆ่างูยักษ์ไพธอนจนมีชื่อเสียงแล้ว ยังสามารถสังหารยักษ์ อโลอาดี (Aloadae) และ อีฟิอัลทิส (Ephialtes) ซึ่งเป็นเชื้อสายของ วงศ์ไทแทน ที่คิดล้มซุสเพื่อฟื้นวงศ์ไทแทนคืนมา เป็นต้น

แต่มีครั้งหนึ่งที่ อพอลโลยังไม่อาจเอาชนะมนุษย์ คนหนึ่งได้จนร้อนถึงเทพซุสต้องออกมาประนีประนอม บุรุษเดินดิน คนนั้นนามว่า เฮอร์คิวลิส เหตุเกิดเพราะ เฮอร์คิวลิส ไปขอคำพยากรณ์ที่วิหารเดลฟี แล้วได้รับคำทำนาย ไม่ถูกใจ จึงล้มโต๊ะพิธีในวิหาร แล้วฉวยเอากระถางธูปไป เทพอพอลโล รีบรุดตามไป ท้าเล่นมวยปล้ำ เพื่อชิงเอากระถางคืน ปล้ำกันอยู่นานไม่อาจรู้แพ้ชนะ ซุสเห็นท่าว่าขืนปล่อยไว้นาน อ
พอลโล อาจจะเสียเปรียบ พ่ายแพ้แก่มนุษย์เข้าได้ และ อาจเสียหน้าวงศ์เทพแน่ จึงลงไปห้ามปรามให้เลิกราต่อกัน ขอให้เฮอร์คิวลิส คืนกระถางธูป แก่อพอลโล แล้วให้เลิกราเรื่องบาดหมางต่อกัน เรื่องราวก็เลยจบลงด้วยดี

เทพอพอลโลมีอุปนิสัยไม่ยอมแพ้ใครอยู่ไม่น้อย เห็นได้จากที่ไปแข่งเป่าขลุ่ยกับมาไซยาส์ซึ่งเป็นเทพชั้นรอง แล้วตั้งกรรมการตัดสินว่า ผู้ใดเป่าเก่งกว่ากัน ท่านไมดาส (Midas ตามประวัติกล่าวว่าท่านจับอะไรก็จะกลายเป็นทองคำ) เกิดตัดสิน เข้าข้างมาไซยาส์ เพียงเท่านี้ อพอลโลก็ไม่ฟังอะไรอีกแล้ว โดยได้สาปให้ไมดาสมีหูเป็นลาไปทันที

เครื่องดนตรีที่เป็นสัญลักษณ์ของอพอลโลก็คือพิณกระดองเต่า ซึ่งเฮอร์เมส ได้ประดิษฐ์ และมอบให้เป็น ของขวัญ ขอโทษขอโพยที่ขโมยวัวอพอลโลไป

อพอลโลเป็นเทพ ที่มีหน้าที่มากมาย และมีชื่อเรียกต่างกันออกไป ทั้งโดยลักษณะและหน้าที่
  • เทพเจ้าแห่งหมาป่า คือ ไลคัส
  • เทพเจ้าผู้รักษาและการแพทย์ คือ เพแอน
  • เทพเจ้าผู้คุ้มครองมิวซ์ คือ มูซาเกเตส
  • เทพเจ้าแห่งหนู คือ สมินเธียรุส
  • เทพเจ้าผู้ส่องแสง คือ โฟเอบัส
ปัจจุบัน อพอลโลเป็นชื่อที่ถูกอ้างอิงบ่อย ๆ ในทางที่เกี่ยวกับแสงสว่างหรือความสำเร็จ เช่น เป็นชื่อปฏิบัติการ ทางอวกาศ ของนาซาที่เรียกว่า โครงการอพอลโล หรือเป็นชื่อยี่ห้อน้ำมันเครื่อง

โดยทั่วไปรูปปั้นอพอลโล จะถือเครื่องดนตรีคล้ายพิณ และมีลูกบอลทองคำ ที่เป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์

ที่มา http://variety.phuketindex.com/faith/อพอลโล-apollo-2886.html

เฮดิส


เฮดีส

เฮดีส  Hades ในที่ชาวโรมันเรียกว่า พลูโต เทพเจ้าผู้ปกครองนรกและโลกหลังความตาย ในตำนานถือว่ามีศักดิ์เป็นพระเชษฐาของซูส ราชาแห่งเหล่าเทพ และยังถือได้ว่าเป็นเจ้าแห่งทรัพย์เพราะเทพเฮดีสมีสิทธิ์ในทรัพย์สินทุกอย่างภายใต้พื้นพิภพ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ดีส  ซึ่งแปลตรงตัวว่า ทรัพย์สิน
เฮดีส แท้ที่จริงแล้วเป็นเทพที่มีความยิ่งใหญ่อีกองค์หนึ่งเช่นเดียวกับซูส หรือ โพไซดอน เนื่องจากเป็นพี่น้องกัน แต่ทว่าความที่เฮดีสเป็นผู้ปกครองนรกซึ่งเป็นโลกใต้ดินซึ่งมีแต่ความมืดมิดและน่ากลัว จึงไม่ใคร่ขึ้นไปยังเขาโอลิมปัส อีกทั้งเทพองค์อื่น ๆ ก็ไม่ใคร่ที่จะต้อนรับเฮดีสด้วย ดังนั้น เฮดีสจึงไม่มีชื่อเป็นหนึ่งในเทพโอลิมปัสเฉกเช่นองค์อื่น ๆ
เฮดีส ได้ชื่อว่าเป็นเทพที่มีความเที่ยงธรรมอย่างมาก ตัดสินความดีชอบของคนตายโดยปราศจากอคติใด ๆ ทั้งสิ้น กล่าวกันว่า พระองค์มีหมวกวิเศษอยู่ใบหนึ่งที่สามารถทำให้ผู้สวมหายตัวได้ ซึ่งในครั้งที่ทำสงครามกับเหล่าไททันส์นั้น เฮดีสใช้หมวกนี้ลอบเข้าไปทำลายอาวุธของไททันส์ก่อนการต่อสู้ และพระองค์มีเทพผู้ช่วยในการตัดสินความดีชั่วในยมโลกอีก 3 องค์คือ ราดาแมนทีสไมนอสไออาคอส ที่เรียกว่า สามเทพสุภา และยังมีฮิปนอส เทพแห่งการหลับใหล และ ทานาทอสเทพแห่งความตายคอยช่วยอีก
เฮดีส มีชายาองค์หนึ่งชื่อ เพอร์ซิโฟเน Persephone เป็นเทพแห่งฤดูใบไม้ผลิซึ่งเป็นพระธิดาองค์เดียวของ          ดีมิเทอร์ Demeter เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์และการเกษตร จากความงดงามของนางเพอร์ซิโฟเน ทำให้เฮดีสลืมเลือนไปหมดสิ้นว่า นางที่แท้จริงคือหลานสาวแท้ ๆ ของตน เพราะว่า ดีมิเทอร์มีศักดิ์เป็นพระขนิษฐาของพระองค์เอง เมื่อเฮดีสได้ฉุดนางไปเป็นเทพีแห่งนรกคู่กัน ทำให้เกิดเป็นกรณีพิพาทขึ้นระหว่างทวยเทพแห่งโอลิมปัส ซูสซึ่งเป็นองค์ประธานได้ตัดสินให้เฮดีสต้องคืนเพอร์ซิโฟเนแก่ดิมิเทอร์ เฮดีสจึงใช้อุบายทำให้เพอร์ซิโฟเนสามารถกลับมาออกมาจากนรกได้เพียงแค่ปีละ 3 เดือน และเหตุนี้จึงเป็นเหตุที่ทำให้ฤดูใบไม้ผลิเกิดขึ้นเพียง3 เดือนเท่านั้นชาวกรีกโบราณจะถวายการสักการะแด่เฮดีสด้วยแกะดำ และเป็นพิธีกรรมที่เร้นลับสืบมาที่ได้ค่อนข้างยาก แต่ก็สืบทอดกันมาว่า หากจะบูชาเทพแห่งความตายหรือเทพอันใดที่เป็นสัญลักษณ์ของความน่ากลัวหรือชั่วร้าย ต้องบูชายัญด้วยแพะหรือแกะดำในวัฒนธรรมสมัยนิยม
( ขอบคุณข้อมูลจากเว็ปzeasmars.blogspot.com )

ซุส





เทพซุส (Zeus) เป็นราชาแห่งทวยเทพ ผู้ปกครองเขาโอลิมปัส (Olympus) และ เทพแห่งท้องฟ้า ฟ้าร้อง ของตำนานเทพปกรณัมกรีก มี อสนีบาต (Thunder bolt) เป็นอาวุธประจำกาย

ทรงเกราะทองประกายวาววับ ซึ่งเกราะทองนี้มนุษย์ทั่วไปจะไม่สามารถทนมองดูได้ แม้แต่ทวยเทพด้วยกันเอง หากไปเพ่งมองแสงเจิดจ้า ของเกราะทองเข้า ก็ย่ำแย่เช่นกัน เทพซุสมีพญานกอินทรีเป็นบริวาร ต้นโอ๊คเป็นต้นไม้ประจำองค์ มีมหาวิหาร และศูนย์กลางศรัทธา อยู่ที่เมืองโอลิมเปีย สัญลักษณ์ประจำพระองค์คือ โคเพศผู้ นกอินทรี และต้นโอ๊ก

พระองค์เป็นพระโอรสองค์สุดท้องของ ไททันโครนัส (Cronus) และ ไททันรีอา (Rhea) ในหลายๆ ตำนานกล่าว ว่า พระองค์ได้สมรสกับเทพีเฮร่า (Hera) แต่ก็มีสถานศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองดอโดน่า (Dodona) ที่อ้างว่า คู่สมรส ของเทพซุสแท้จริงแล้วคือ เทพีไดโอเน่ (Dione) นอกจากนี้มหากาพย์อีเลียด (Illiad) ยังกล่าวไว้ว่า เทพซุส เป็นพระบิดา ของเทพีอโฟรไดต์ (Aphrodite) ที่กำเนิดจากเทพีไดโอเน่อีกด้วย เทพซุส มักมีชื่อเสียง ในพฤติกรรมนอกลู่นอกทางเรื่องชู้สาวของพระองค์ ซึ่งยังรวมไปถึง ความสัมพันธ์ กับเด็กหนุ่มนามกานีเมดี้ (Ganymede) ด้วยเช่นกัน พฤติกรรมของพระองค์ทำให้เกิดผู้สืบเชื้อสายอยู่หลายองค์ และหลายคนด้วยกัน อาทิเช่น เทพีอาธีน่า (Athena) เทพอพอลโล (Apollo) และเทพีอาร์ทีมิส (Artemis) เทพเฮอร์มีส (Hermes) เทพีเพอร์ซิโฟเน่ (Persephone) เทพไดโอนีซุส (Dionysus) วีรบุรุษเพอร์ซีอุส (Perseus) วีรบุรุษเฮอร์คิวลีส (Hercules) เฮเลนแห่งทรอย (Hellen) กษัตริย์ไมนอส (Minos) และเหล่าเทพีมิวเซส (Muses) ส่วนผู้สืบเชื้อสาย ที่เกิดจากเทพีเฮร่าโดยตรง ได้แก่เทพเอรีส (Ares) เทพีเฮบี (Hebe) และเทพเฮฟาเอสตัส (Hephaestus)

นามของพระองค์ในตำนานเทพปกรณัมโรมันคือ เทพจูปิเตอร์ (Jupiter) และนามในตำนานอีทรูสแคนคือเทพไทเนีย (Tinia)

ในวัยเยาว์ของพระองค์ โดนพ่อบังเกิดเกล้าเรียกเอาไปกิน หวังไม่ให้เยาวเทพเติบโตขึ้นมาวัดรอยเท้า เคราะห์ดีที่แม่ของท่านไหวตัวทันเอาไปฝากแพะเลี้ยงเอาไว้ จนกระทั่งเติบโตจึงได้มาทวงบัลลังก์กับพ่อ ต้องรบราฆ่าฟันพี่น้อง รวมทั้งพ่อของตัวเองด้วย หลังจากยึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จแล้ว ซุสก็ขึ้นครองบัลลังก์ รั้งอำนาจเต็มตลอด 3 ภพ คือ สวรรค์ พิภพ และ บาดาล แต่ซุสก็ตระหนักดีว่า การที่จะปกครองทั้ง 3 ภพ และ ทะเลให้ทั่วถึงมิใช่เรื่องง่าย หาใช่ภาระเล็กน้อยไม่ เพื่อป้องกันการแก่งแย่ง และกระด้างกระเดื่อง จึงจัดสรรอำนาจ ยอมยกให้เทพต่างๆ มีเอกสิทธิในการปกครองอาณาเขตดังนี้

เนปจูน หรือ โปเซดอน ได้ครองทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และแม่น้ำทั้งปวง

พลูโต หรือ ฮาเดส เป็นเจ้าแห่งตรุทาร์ทะรัส และ แดนบาดาลทั้งหมด อันรัศมีของแสงอาทิตย์ ไม่เคยส่องลอดไปถึงเลย

ยูปิเตอร์ หรือ ซุสเองปกครองทั้งสวรรค์ และพิภพ แต่ก็มีอำนาจที่จะสอดส่องดูแล กิจการทั่วไปในเขตแดน ของเทพภราดรทั้งสองได้บ้าง

เมื่อทุกสิ่ง ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ความสงบก็บังเกิดขึ้น

หากกล่าว ถึงบทบาทของเทพซุสแล้ว ต้องยอมรับว่า มีบทบาทขัดแย้งในองค์เองมากที่สุดในบรรดาเทพด้วยกัน เนื่องจากทรงเป็นมหาเทพผู้ทรงอำนาจสูงสุด และมีผู้เคารพนับถือโดยทั่วไปเป็นที่ยำเกรงของสามโลก ทรงไว้ซึ่งฤทธิ์อำนาจ ล้นฟ้าล้นแผ่นดิน แต่กลับทรงมีอุปนิสัยเหมือนบุรุษหนุ่มธรรมดา ๆ นั่นคือ ความเกรงใจ ที่มอบให้แก่มหาเทวี ฮีร่า ชายาของเทพซุสเอง เป็นอย่างมาก ซึ่งก็คืออาการ “กลัวเมีย” และสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ ความเจ้าชู้ที่มีอยู่ในตัวมหาเทพซุสนั่นเอง

ความขัดแย้งอีกประการ หนึ่งที่มีอยู่ในตัวมหาเทพองค์นี้ คือ แม้ว่าเทพซุสจะมีอำนาจสูงสุดทั่วสามภพ แต่ไม่อาจใช้อำนาจของตน ไปแตะต้องเทพองค์หนึ่งได้ ทั้ง ๆ ที่เทพองค์นั้นก็เป็นเพียงเทวะชั้นรอง และไม่สามารถมาประชันขันแข่งกับซุสได้ เทพองค์นั้นมีนามว่า ชะตาเทพ (Fate) ซึ่งบ่งบอกให้เราทราบว่าไม่มีผู้ใดเลย หรือ แม้แต่เหล่าทวยเทพ จะหาญสู้หลีกเลี่ยง หรือก้าวก่ายกับชะตาชีวิตได้

ด้วยเหตุนี้ การที่มหาเทพซุสมีอะไรแย้ง ๆ กันในองค์เอง อาจเป็นเพราะชาวกรีกโบราณที่สร้าง เหล่าทวยเทพ ขึ้นนับถือมีความเป็นนักปรัชญาอยู่เต็มตัว เขาจึงสร้างทวยเทพของเขาให้ละม้ายคล้ายกับมนุษย์ปุถุชน มีทั้งข้อดี และจุดบกพร่อง คุณงามความดีอันสำคัญของมหาเทพซุสเป็นอีกอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่า ผู้ที่เคารพนับถือเป็นนักปราชญ์มากกว่านักสงคราม ก็คือ ซุสทรงรักสัจจะ และความเป็นธรรมอย่างที่สุด ทรงเกลียดชังคนโกง และคนโกหกอย่างที่สุด การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเพื่อถวายแด่พระองค์ นักกีฬาจึงต้องแข่งกันอย่างตรงไปตรงมา แต่ในยามโกรธเกรี้ยว และต้องลงทัณฑ์ต่อความผิด เทพซุสก็โหดเช่นกัน เช่น ตอนโพรเมธุสขโมยไฟจากสวรรค์มาให้มนุษย์ พระองค์ตามล่าจนได้ตัวแล้วนำโพรเมธุสฝังเข้าไปในหิน 30,000 ปี และยังได้ส่งนกอินทรีย์ มากินตับโพรเมธุสทุกวันอีกด้วย

ความเจ้าชู้ ดูเหมือนจะกลายเป็นภารกิจหลักของมหาเทพ แต่ก็ใช่ว่าซุส จะประสบความสำเร็จทุกครั้ง คนที่พ้นมือไปได้ก็ยังพอมีอยู่ เช่นนางอัปสร (Nymph) ที่มีนามว่าแอสทีเรีย เธอแปลงเป็นนกกระทาบินหนีไป หรือ เทย์กีต ลูกสาวของแอตลาสก็เกือบไป เพราะ เทพีอาร์เทมีส มาพบเข้าพอดี แล้วช่วยแปลงนางเป็นกวาง จนนางวิ่งเร็วกว่าซุสหายไปในป่า

ในที่สุด เทพซุสเอง ก็ถูกบีบให้เข้าสู่การแต่งงานครั้งสุดท้าย นั่นคือตอนไปพบกับเฮรา ราชินีแห่งท้องฟ้า เฮราปฏิเสธที่จะมีสัมพันธ์กับพระองค์ ซุสแปลงตัวเป็นนกดุเหว่าร่วงลงมาต่อหน้าเฮรา แกล้งทำเป็นโดนความหนาว จนตัวแข็ง เฮราหลงกลพานกดุเหว่าเข้าไปกอดในห้องนอนของนาง แต่พอนางรู้สึกตัวว่าอยู่ในอ้อมแขนของผู้ชายเข้าแล้ว นางกลับไม่ยอม จนในที่สุดซุสต้องยอมเอ่ยคำปฏิญาณจะแต่งงานด้วย ไม่ช้าไม่นาน ซุสก็พบว่าความงามของเฮรา กลับตรงกันข้ามกับนิสัยของนาง เพราะเฮราขึ้นขื่อดังทั่วสวรรค์ว่าเป็น “มเหสีขี้หึง”

อย่าเพิ่งนึก ว่าซุสได้มเหสีที่แสนจะขี้หึง และไล่ตามราวีพระองค์อย่างนั้นแล้ว พระองค์จะยอมหยุดความเจ้าชู้ลงได้ วิถีความรักของพระองค์ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ซุสโปรดเหล่านางพรายป่าเป็นพิเศษ เพราะปราบปลื้มในการที่ได้ลบเอาความโกรธเกรี้ยว ที่จะมีสัมพันธ์กับผู้ชายของ นางอัปสรเหล่านี้ให้หมดไป ประวัติของซุสตอนที่มาเกี่ยวกับผู้หญิง ที่เป็นมนุษย์กล่าวไว้มากพอควร แต่ล้วนเป็นเล่ห์อุบายของซุสที่จะเข้าอภิรมย์กับมนุษย์ผู้หญิง พระองค์นี่จัดว่าเป็นนักรักที่มีความพยายามสูงสุด ไม่ว่าจะมีการปกป้องหญิงงามนางนั้น อย่างแข็งขันเพียงไรก็ไม่มีทางพ้นมือไปได้เลย เช่น ตอนที่ไปชอบ ดานาอี ลูกสาวของกษัตริย์อครีซีอุส กษัตริย์อครีซีอุสอุตส่าห์จับลูกสาวขังไว้ในหอคอยบรอนซ์ ซุสก็ยังอุตส่าห์แปลงร่างเป็นฝนทอง แทรกตัวลงไปตามรอยแตกของหลังคาลงไปได้

หรืออย่างตอนที่เข้าหานางลีดา (Leda) มเหสีของ ทินเดริอุส ซึ่งกำลังเปลือยกายอาบน้ำอยู่ในสระ ก็แปลงตัวเป็นหงส์ขาวแสนสวย ค่อยๆ ลอยเข้าหาจนนางอดเรียก มากอดไม่ได้ กว่าจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ทุกอย่างก็สายไป จนนางตั้งครรภ์ และคลอดออกมาเป็นไข่ ครั้นไข่แตกออก แทนที่จะเป็นตัวประหลาดครึ่งคนครึ่งหงส์โผล่ออกมา อย่างตำนานทั่วไป กลับกลายเป็นฝาแฝดชายคู่หนึ่ง ได้แก่ คัสเตอร์ (Castor) กับ โพลิดียูซิส (Polydeuses) หรือ พอลลักซ์ (Pallux) ในภาษา โรมัน สิ่งที่ทำให้ทารกคู่นี้เป็นพยานความสัมพันธ์ระหว่างเทพกับมนุษย์ คือ คนหนึ่งมีกายเป็นอมตะดั่งเทพ แต่อีกคนหนึ่งตายได้ อย่างมนุษย์สามัญธรรมดา นอกจาก ฝาแฝดชายคู่นี้แล้ว ลีดายังมีแฝดหญิงอีกคู่หนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักที่สุด ในตำนานกรีกโบราณ หนึ่งนั้นนามว่า เฮเลน หญิงงาม ต้นเหตุของ มหาสงครามกรุงทรอย อีกหนึ่งคือ ไคลเตมเนสตร้า (Clytemnestra) ซึ่งต่อมาได้เป็นมเหสีของ อกาเมมนอน แห่งไมซีนี่ (ความสัมพันธ์สวาท ของนางลีดากับพญาหงส์ปลอม ที่มหาเทพซุสทรงจำแลงมานั้น เป็นไปอย่างซ่อนเร้น เพราะลีดา เป็นมเหสีของท้าว ทินดาริอุส (Tindarius) แห่งสปาร์ต้า เมื่อลีดาให้กำเนิดเฮเลน และ ไคลเตมเนสตร้า ทินดาริอุสก็นึก ว่าเป็นธิดาของพระองค์)

อีกครั้งสำคัญ ก็ตอนที่ลักพา นางยูโรปา ตอนนั้นพระองค์แปลงเป็นวัวขาว ที่งดงาม และดูนุ่มนวล จนนางยูโรปาอดจับต้องไม่ได้ เมื่อเห็นว่า มันเชื่องกับมือนาง นางก็ทำช่อดอกไม้ คล้องเขาของมัน แล้วขึ้นขี่หลัง มหาเทพก็พานางเหาะข้ามทะเลพายูโรปา ไปถึงครีต แสดงร่างที่แท้จริง และได้นางยูโรปาที่ใต้ต้นไม้ตรงนั้นเอง ยังมีเรื่องพิศวาสระหว่างซุสกับเหล่าสตรีอื่น ๆ อีกมาก อาทิสัมพันธ์รัก กับนางไอโอ ที่เป็นยายของ วีรบุรุษ เฮอร์คิวลิส รักกับไดโอนี และมีธิดา นามว่า อโฟรไดท์ พิสมัยกับ ไมอา และมีโอรสนามว่า เฮอร์มิส ฯลฯ

( ที่มา http://variety.phuketindex.com/faith/เทพซุส-zeus-372.html )